ปัจจุบันนี้การซื้อขายออนไลน์กลายเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมมากนะครับ เพราะถ้าคิดในแง่ของผู้บริโภค ก็ถือเป็นความสะดวกสบายของชีวิตทีเดียวแหละ ลองสำรวจตัวเองดูสิครับ คุณต้องมีคลิกซื้อของออนไลน์กันบ้างล่ะ ทั้งนี้เพราะการเข้าถึงเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต และสมาร์ทโฟน ที่เป็นอุปกรณ์จำเป็นสำหรับการซื้อขายออนไลน์สามารถทำได้ง่ายขึ้น ปี 2561 พบว่าประเทศไทยมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตกว่า 57 ล้านคน มีผู้ใช้มือถือประมาณ 55.56 ล้านเครื่อง และมีผู้ใช้งานสื่อโซเชียลมีเดียผ่านสมาร์ทโฟนประมาณ 46 ล้านเครื่อง ซึ่งกิจกรรมหนึ่งที่เติบโตคู่กันก็คือการซื้อขายสินค้าออนไลน์ ไม่เว้นแม้แต่สินค้าเกษตร
แล้วเทรนด์นี้เองครับที่มีส่วนผลักดันให้เกษตรกรไทยต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงเพื่อก้าวให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนไป ที่สำคัญที่สุด นี่อาจจะเป็นโอกาสดีมากสำหรับเกษตรกรไทย ถ้าสามารถนำสินค้าเกษตรของตัวเองเข้าสู่ตลาดออนไลน์ได้ เนื่องจากมีข้อดีหลายประการด้วยกัน เช่น ตัดเรื่องพ่อค้าคนกลาง สามารถขยายตลาดสินค้าเกษตรได้มากขึ้น ทำให้เกษตรกรออนไลน์ได้ทำความรู้จักกับกลุ่มลูกค้าของตัวเองโดยตรง ส่งผลให้เกิดการพัฒนาสินค้าเกษตรที่ตรงกับความต้องการของตลาด ในแง่ผู้ซื้อหรือผู้บริโภค เราก็จะได้ของดี สด ใหม่ ส่งตรงจากผู้ผลิตแบบรู้ที่มาที่ไป ถือว่าวินวินนะครับ
ซึ่งในส่วนของภาครัฐเองก็สนับสนุนเกษตรกรออนไลน์มากเช่นกัน มีหลายหน่วยงานที่เข้ามามีบทบาท ทั้งให้ข้อมูลความรู้ รวมถึงอำนวยความสะดวก อย่างเช่น องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อตก.) ที่มีการเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าเกษตรของเกษตรกรให้ถึงมือผู้บริโภคโดยตรง โดยให้เหตุผลว่า
“เมื่อโลกเปลี่ยน การทำเกษตรยุคใหม่จึงไม่ใช่แค่การเป็นผู้ปลูกอย่างเดียว แต่ต้องมองให้ครบรอบด้าน ตั้งแต่ต้นทางการผลิตไปจนถึงตลาดปลายทาง ให้ความสำคัญกับความต้องการของผู้บริโภค รู้จักใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยยกระดับธุรกิจ”
สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ก็จัดกิจกรรมอบรมเกษตรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) เกี่ยวกับการขายผ่านเว็บไซต์ เพื่อเปิดมิติใหม่ให้สินค้าเกษตรไทยบนโลกออนไลน์ หรือกระทรวงเกษตรฯเองก็บอกว่า ปัจจุบันการขายสินค้าเกษตรออนไลน์เป็นช่องทางและโอกาสทางการตลาดที่สำคัญในการขยายฐานลูกค้าจากภายในประเทศสู่ลูกค้าต่างประเทศ เชื่อมโยงการค้าในรูปแบบอีคอมเมิร์ช (E-Commerce) โดยเน้นส่งเสริมให้สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และเกษตรกรรายย่อย มีช่องทางเลือกในการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรและแปรรูป พัฒนาช่องทางการค้าขายผ่านช่องทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0
การซื้อขายสินค้าเกษตรออนไลน์นั้นมีหลายรูปแบบอยู่ครับ ทั้งจากผู้ประกอบการสู่ผู้ประกอบการ (B2B), ผู้ประกอบการต่อผู้บริโภค (B2C) และผู้บริโภคต่อผู้บริโภค (C2C) ในปี 2560 ประเทศไทยมีมูลค่าการค้าขายในระบบอีคอมเมิร์ชกว่า 2.81 ล้านล้านบาท ซึ่งสินค้าเกษตรก็เป็นหนึ่งในนั้น น่าสนใจไหมล่ะครับ ถ้าสนใจและอยากปรับตัวเป็นเกษตรกรออนไลน์ แนะนำว่าต้องเริ่มจากการหาข้อมูลความรู้ครับ ซึ่งก็มีหน่วยงานต่าง ๆ ที่พร้อมจะให้ความช่วยเหลือคุณอยู่มากมายทีเดียว ยิ่งสมัยนี้การเข้าถึงข้อมูลและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ไม่ใช่เรื่องยากแล้ว เมื่อมีความรู้ความเข้าใจเพียงพอ จากนั้นก็มาดูว่าเราต้องการจะขายอะไร ใครคือกลุ่มเป้าหมาย ต่อด้วยการมองหาช่องทางการขายที่เหมาะสมกับสินค้าของตัวเอง
ประธานฝ่ายปฏิบัติการบริษัท เพย์ โซลูชั่น จำกัด มีคำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ชหน้าใหม่ว่า ให้เริ่มจากการเป็นรายย่อยก่อน โดยค้าขายกันเองแบบเปิดแฟนเพจขึ้นมาง่าย ๆ พอขายดีมาก ๆ เข้า ก็ค่อยขยับไปเป็นเว็บไซต์ โดยสมัครกับเว็บดัง ๆ ที่น่าเชื่อถือ เป็นลักษณะ Market Place อารมณ์เหมือนกับนำสินค้าคุณขึ้นห้างอย่างนั้นล่ะครับ ซึ่งมีข้อดีคือ คุณไม่ต้องยุ่งยากเรื่องการบริหารระบบหลังบ้าน คนเข้าเยอะ ห้างเองก็จะช่วยโปรโมท ทำให้ผู้บริโภคมีโอกาสเข้าถึงสินค้าของคุณได้มากกว่า จนเมื่อมีฐานลูกค้ามากพอจึงค่อยสร้างเว็บไซต์เป็นของตัวเอง เมื่อถึงขั้นตอนนี้สินค้าเกษตรของคุณก็จะมีหน้าร้านของตัวเอง และมีวางขายอยู่บนห้างด้วย ทำให้ธุรกิจของคุณสามารถต่อยอด และขยับขยายไปได้กว้างไกล พอจะมองเห็นภาพการเป็นเกษตรกรออนไลน์กับบ้างแล้วใช่ไหมครับ

เมื่อมีร้านแล้วก็ต้องไม่ลืมใส่ใจสินค้าของเราด้วย นางสาวปุณญามาลย์ สุบรรณ ณ อยุธยา ผู้แทนสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย แนะว่าการซื้อของออนไลน์ไม่ใช่แค่การซื้อของ แต่เป็นประสบการณ์อย่างหนึ่งเพื่อให้ลูกค้าประทับใจและกลับมาซื้ออีกครั้ง ดังนั้น สิ่งที่เกษตรกรออนไลน์จะต้องให้ความสำคัญคือ
- หาจุดเด่นของสินค้าว่าคืออะไร เช่น ถ้ามีข้าวไรซ์เบอร์รี่ 10 เจ้าของเราแตกต่างหรือเด่นกว่าเจ้าอื่นอย่างไร
- การจัดแพ็คเกจ (Packaging) ที่ดึงดูดใจ และช่วยสร้างมูลค่า
- รูปภาพที่โพสต์ขายต้องสวย และดูน่าสนใจ
- รายละเอียดสินค้าต้องชัดเจน เช่น น้ำหนักเท่าไหร่, ไซส์อะไร, หมายเลข อย.ฯลฯ
- มี Content สนับสนุนสินค้า เช่น ผักชนิดนี้มีสารอาหารอะไรที่เป็นประโยชน์บ้าง, หรือเป็นทุเรียนที่ปลูกในดินภูเขาไฟ เป็นต้น
- สร้างเรื่องราวให้ดูน่าสนใจและเหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย เช่น ถ้าเป็นพืชผักอินทรีย์ที่มีกลุ่มเป้าหมายอยู่ที่คนรักสุขภาพ ก็อาจจะเป็นเรื่องราว เช่น การปลูกชาที่เป็นออแกนิกส์ร้อยเปอร์เซ็นต์ มีกรรมวิธีการผลิตที่ใส่ใจ เก็บมาตาก และบดด้วยมือ เป็นต้น
เป็นอย่างไรครับ พอจะเห็นแนวทางกันแล้วใช่ไหมครับว่า เราจะเริ่มต้นเป็นเกษตรกรออนไลน์จากอะไร ถ้ายังไม่แน่ใจว่าจะสามารถปรับตัว และเริ่มต้นได้ด้วยตัวเอง ขอเสนอทางลัดว่า ต้องมองหาผู้เชี่ยวชาญ หรือเครื่องมือดี ๆ มาเป็นผู้ช่วยครับ อย่างที่ตลาดแอป แพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อทุกภาคส่วนของเกษตรกรรม ซึ่งรวมถึงแหล่งทำการซื้อขายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรขนาดใหญ่ด้วย บอกเลยว่าที่นี่เขาเตรียมทุกอย่างไว้ให้พร้อมหมด และก็ใช้งานได้ง่ายมาก ๆ เพียงแค่คลิกเข้าไปสมัครเป็นสมาชิก คุณก็สามารถจะเป็นเกษตรกรออนไลน์และทำการซื้อขายสินค้าโดยตรงกับผู้บริโภคได้แล้ว ลองเข้าไปกันดูครับ